HOME PR News ส่องเทรนด์การทำงานในยุคดิจิทัล “ยืดหยุ่น เปิดกว้าง สร้างรายได้”

ส่องเทรนด์การทำงานในยุคดิจิทัล “ยืดหยุ่น เปิดกว้าง สร้างรายได้”

ในยุคที่ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับคลื่น “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” (Digital Disruption) รูปแบบการทำงานในปัจจุบันก็กำลังเผชิญหน้ากับกระแสของความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีได้เข้ามาทำลายข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ โดยช่วยอำนวยความสะดวกให้เราสามารถทำงานที่ไหนหรือเวลาใดก็ได้ จนทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการทำงานที่มีอิสระมากขึ้น มีเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น สามารถเลือกรับงานได้ตามความเหมาะสม และกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการทำงานในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น งานฟรีแลนซ์ การขายสินค้าออนไลน์ รวมไปถึงการสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างการเป็นพาร์ทเนอร์คนขับ-จัดส่งอาหารของแกร็บซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก บางองค์กรต้องมีการเลิกจ้างหรือปิดตัวกิจการลง ทำให้หลายคนหันมาสมัครเป็นคนจัดส่งอาหารหรือพัสดุเพื่อเป็นอาชีพเสริม

ด้วยรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น สามารถเลือกรับงานได้ตามช่วงเวลาที่สะดวก พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างรายได้เสริมจากการใช้ประโยชน์ของแอปพลิเคชัน เพียงแค่มีใจรักบริการ มีใบขับขี่และไม่มีประวัติอาชญากรรม จึงทำให้ “พาร์ทเนอร์แกร็บ” กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยนอกเหนือจากค่าตอบแทนจากการให้บริการแล้ว แกร็บยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้กับพาร์ทเนอร์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น โบนัสหรืออินเซนทีฟ ประกันอุบัติเหตุ นอกจากนั้น ยังมีส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากพันธมิตรของแกร็บ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากแกร็บมีการออกเอกสารรับรองรายได้ให้กับพาร์ทเนอร์ ซึ่งสิทธิประโยชน์ส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามระดับของการรับงาน

สำหรับวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ แกร็บ ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับพาร์ทเนอร์คนขับและผู้รับส่งอาหาร-พัสดุในประเทศไทย* มาดูกันว่าปัจจุบันพาร์ทเนอร์ของแกร็บกว่าแสนรายเป็นคนกลุ่มไหนกันบ้าง

กว่า 3 ใน 4 ของพาร์ทเนอร์แกร็บให้บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ

  • หากแบ่งตามประเภทบริการ พาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่ของแกร็บถึง 77% ให้บริการจัดส่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) และบริการจัดส่งพัสดุผ่านแกร็บเอ็กซ์เพรส (GrabExpress) ในขณะที่ 23% ให้บริการการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น แกร็บคาร์ (GrabCar) แกร็บแท็กซี่ (GrabTaxi) แกร็บไบค์ (GrabBike) รวมไปถึงบริการคนขับรถยนต์ส่วนตัวอย่างแกร็บไดรฟ์ยัวร์คาร์ (GrabDriveYourCar)
  • หากแบ่งตามประเภทของยานพาหนะที่ใช้ 64% ของพาร์ทเนอร์แกร็บใช้รถจักรยานยนต์ในการรับงาน ขณะที่ 35% ใช้รถยนต์เพื่อให้บริการการเดินทาง รวมถึงการจัดส่งพัสดุ ที่น่าสนใจคือมี 1% ที่ไม่ได้ใช้ยานพาหนะใดๆ แต่เลือกใช้ “การเดินเท้า” เพื่อจัดส่งอาหารในระยะใกล้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แกร็บฟู้ด วอล์ค” (GrabFood Walk) ซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องการหารายได้เสริมระหว่างเรียน

เพศชาย และเจน Y ยังถือเป็นกลุ่มใหญ่ของพาร์ทเนอร์แกร็บ

  • หากแบ่งตามวัยหรือเจเนอเรชัน พบว่าพาร์ทเนอร์ของแกร็บอยู่ในกลุ่มเจน Y (คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2537) มากที่สุดถึง 48.5% รองลงมาคือเจน X (คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2503 – 2522) คิดเป็น 26% และเจน Z (คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2553) คิดเป็น 24% ในขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (คือคนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2503) มีสัดส่วนเพียง 1.5% โดยพบว่าพาร์ทเนอร์ที่มีอายุมากที่สุดคือ 83 ปี
  • หากแบ่งตามเพศ แน่นอนว่าพาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่ของแกร็บถึงกว่า 86% เป็นเพศชาย แต่ก็เริ่มเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหันมารับงานอิสระเพื่อสร้างรายได้เสริมจากการให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่งอาหาร รวมถึงส่งของ

สร้างรายได้เสริมจากการทำงานแบบพาร์ทไทม์ ทางเลือกในวิกฤติโควิด-19

  • ด้วยลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถเลือกช่วงเวลาที่รับงานได้ตามความสะดวกของตนเอง ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันแกร็บในการหารายได้เสริม โดยมีพาร์ทเนอร์แกร็บมากถึง 71% ที่เลือกรับงานแบบพาร์ทไทม์ (Part-time) คือมีระยะเวลาในการให้บริการน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ 29% ของพาร์ทเนอร์ตั้งใจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแกร็บเป็นช่องทางในการหารายได้หลักโดยรับงาน 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป โดยกลุ่มนี้รวมถึงพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บแท็กซี่ ซึ่งส่วนใหญ่ขับรถรับจ้างเป็นอาชีพอยู่แล้ว
  • หากเจาะลึกไปที่ระยะเวลาหรือจำนวนปีที่พาร์ทเนอร์เหล่านี้ให้บริการ พบว่ามีพาร์ทเนอร์ 2.5% ที่ถือเป็นแกร็บรุ่นบุกเบิก คืออยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บมายาวนานกว่า 5 ปี ขณะที่พาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่ให้บริการไม่เกิน 3 ปีซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่แกร็บได้เริ่มบุกตลาดการจัดส่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) อย่างจริงจัง โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นพาร์ทเนอร์มาแล้ว 1 – 3 ปีจำนวน 26.5%  และ 6 เดือน – 1 ปีจำนวน 19% แต่ที่ถือเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดถึงกว่า 44% นั้น คือกลุ่มที่เพิ่งสมัครเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์แกร็บน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งพาร์ทเนอร์กลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติโควิด-19 อย่างพนักงานประจำที่ต้องพักงานหรือถูกลดเงินเดือน จึงเข้ามาสมัครเป็นพาร์ทเนอร์แกร็บเพื่อหารายได้เสริม [โดยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา แกร็บได้เปิดรับพาร์ทเนอร์ผู้จัดส่งอาหารแล้วกว่า 29,000 อัตราเพื่อเปิดโอกาสในการสร้างรายได้เสริมให้กับคนไทยในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ]
  • ปัจจุบัน บริการของแกร็บครอบคลุมใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ แต่สำหรับ 5 จังหวัดที่มีจำนวนพาร์ทเนอร์แกร็บมากที่สุดยังคงเป็นเมืองใหญ่ของทุกภูมิภาคและเป็นจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว อันได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และนครราชสีมา

จะเห็นได้ว่าการเป็นพาร์ทเนอร์แกร็บไม่ได้จำกัดแค่อยู่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โอกาสในการสร้างรายได้จากเทคโนโลยีนั้นเปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติ หรือแม้แต่ยามที่หลายภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างวิกฤติโควิด-19 รูปแบบของงานประเภทนี้ก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและมีบทบาทสำคัญที่ช่วยกระจายรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

แสดงความคิดเห็น

Exit mobile version