Apple แนะนำแอพฯ สร้างสรรค์โดยนักพัฒนาหญิง

เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม Apple คัดสรรแอพเด่นๆ ที่สร้างสรรค์โดยนักพัฒนาหญิงมาแนะนำพร้อมกันนี้เรามีความคิดเห็นจาก ทพญ.กัญจน์ภัสสร. สุริยาแสงเพ็ชร์ ซึ่งเป็นนักพัฒนาหญิงคนไทย ผู้พัฒนาแอพ OOCA มาแบ่งปัน

OOCA – ทพญ.กัญจน์ภัสสร. สุริยาแสงเพ็ชร์ 

“ดิฉันไม่เคยคิดว่าการเป็นผู้หญิงนั้นจะเป็นข้อเสียเปรียบอะไร จนกระทั่งได้มาเป็นผู้ประกอบการเอง แม้ต้องพบกับอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองด้อยกว่าผู้ชายเลยสักครั้ง หลายครั้งที่ดิฉันได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม อาทิ ถูกเข้าใจผิด โดนมองข้าม หรือได้รับการประนีประนอม เนื่องจากเห็นว่าดิฉันแตกต่างจากสิ่งที่คนทั่วไปคาดหวังในฐานะหัวหน้าองค์กร หรือเป็นนักธุรกิจหญิงที่ดูเด็กและเป็นเพศหญิง บางครั้งบุคคลภายนอกมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับดิฉัน และดิฉันอยากบอกว่ามันไม่ยุติธรรม ผู้หญิงทุกคนควรมีความคิดที่จะเอาชนะ พูดอย่างผู้ชนะ เดินอย่างผู้ชนะ จงกล้าหาญและถ่อมตัว ถ้าหากคนในห้องให้ค่าตัวตนของคุณมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกแล้วละก็ นั่นคือกลุ่มคนที่คุณควรจะใช้เวลาไปกับพวกเขา”

หลากแอพและเกมเด่นฝีมือผู้หญิง

จากนี้ไปการเขียนโค้ด การดูแลสุขภาพจิต ไปจนถึงการมองโลกผ่านเกม จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้หญิงจากทั่วโลกกำลังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง App Store เราจึงอยากแนะนำแอพและเกมเจ๋งๆ ที่จะช่วยทำให้ชีวิตของคุณดียิ่งขึ้น พร้อมกับพาคุณไปทำความรู้จักเหล่านักสร้างสรรค์ผู้อยู่เบื้องหลังแอพเหล่านี้


OOCA ปรึกษาปัญหาใจกับผู้เชี่ยวชาญผ่านมือถือ

เริ่มกันที่แอพในหมวดการแพทย์ฝีมือคุณหมอคนไทยอย่าง ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือ หมออิ๊ก ผู้ร่วมสร้างแอพ OOCA กับน้องชายที่เป็นผู้ดูแลด้านการเขียนโค้ด เพื่อให้บริการทางจิตวิทยาได้ง่ายขึ้นผ่านการโทรศัพท์แบบวิดีโอคอลกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา โดยผู้ใช้งานสามารถสามารถเลือกทำแบบทดสอบความเครียดได้ก่อน หากหลังจากนั้นคิดว่าต้องการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญก็สามารถดูรายชื่อคุณหมอและนักจิตวิทยา พร้อมดูหัวข้อที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ เมื่อเจอผู้เชี่ยวชาญที่ถูกใจและเช็กเวลาว่างที่ตรงกันได้แล้ว ก็กดปุ่มนัดหมายเพื่อรอพูดคุยกันแบบเห็นหน้ากันได้เลย แอพนี้เป็นเหมือนที่พักใจสำหรับทุกคนที่ต้องการใครสักคนที่รับฟังและให้คำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับการก้าวต่อไปในวันที่บางครั้งอาจจะยากสำหรับเรา

ดาวน์โหลดแอพ OOCA ได้ฟรีบน iPhone และ iPad

เริ่มต้นวันของคุณไปกับ Shine ก็เหมือนได้เติมพลังบวกให้สุขภาพใจ

ด้วยการออกแบบประสบการณ์ที่ช่วยให้คุณได้ทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญในชีวิต แอพเพื่อสุขภาพแอพนี้จะทำให้คุณรู้สึกราวกับได้พูดคุยกับเพื่อนสักคนที่ห่วงใยและมีข้อคิดดีๆ มาฝาก Shine จะคอยอยู่ข้างคุณในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ Daily Shine หรือการทำสมาธิตอนเช้าเพื่อให้คุณพร้อมรับวันใหม่อย่างสดใส และปิดท้ายวันด้วยเรื่องราวก่อนนอนที่จะช่วยกล่อมให้คุณหลับสบาย พลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลง: สำหรับ Shine นั้น สุขภาพจิตใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่สามารถจะแยกออกจากเรื่องงาน ความสัมพันธ์ และความเป็นไปต่างๆ ในโลกได้ Shine รู้ดีว่าทุกประสบการณ์ชีวิต ตัวตนของคุณ หรือแม้กระทั่งรายละเอียดด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณได้ และแอพก็ได้ตอบสนองอย่างตรงจุดด้วยการเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องการทำสมาธิเพื่อสุขภาพที่ดีของคนดำด้วย นักสร้างสรรค์ผู้อยู่เบื้องหลัง: ผู้ก่อตั้งแอพทั้งสอง Marah Lidey และ Naomi Hirabayashi พบกันครั้งแรกขณะที่พวกเธอเป็นพนักงานหญิงผิวสีระดับอาวุโสเพียงสองคนในองค์กร บทสนทนาระหว่างทั้งคู่ในช่วงพักดื่มกาแฟหรือรับประทานอาหารทำให้พวกเธอปิ๊งประเด็นนี้ขึ้นมาและพยายามหยิบเรื่องนี้มาแก้ไขปัญหา “หลายคนที่เรามีโอกาสได้พูดคุยด้วยกล่าวว่า ‘ฉันอยากมีใครสักคนที่คอยถามสารทุกข์สุขดิบ คอยเช็กว่าฉันเป็นยังไงบ้าง’” Marah กล่าว ทั้งคู่เปิดตัว Shine ในปี 2017

ดาวน์โหลดแอพ Shine – Self Care & Meditaion ได้ฟรีบน iPhone

Hopscotch เปรียบเหมือนผืนผ้าใบที่เด็กๆ สามารถเขียนโค้ดอะไรลงไปก็ได้ตามใจปรารถนา

Hopscotch คือพื้นที่ที่เปิดให้เด็กๆ ได้เขียนโปรแกรมและเรื่องราวของตัวเองลงไป แล้วแชร์ให้เพื่อนๆ รวมถึงเข้าไปเล่นเกมที่ผู้ใช้งานคนอื่นๆ สร้างไว้ได้ พร้อมกับเรียนรู้หลักการเขียนโค้ดไปด้วยในเวลาเดียวกัน พลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลง: Hopscotch พิสูจน์ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่างานเขียนโค้ดนั้นไม่จำเป็นต้องทำเพียงลำพังเสมอไป เพราะมันคือช่องทางให้คุณได้โชว์ความคิดสร้างสรรค์และรู้จักเชื่อมต่อกับคนอื่นด้วย “ฉันหวังว่าความพยายามของเราที่จะผลักดันให้การเขียนโค้ดกลายเป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึงตัวตนจะสามารถช่วยสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ผู้ที่จะมาพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เราได้ใช้กันในอนาคตได้” Samantha John ผู้พัฒนาแอพกล่าว นักสร้างสรรค์ผู้อยู่เบื้องหลัง: ในวัยเด็ก Samantha ไม่ใช่คนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีนัก โดยเธอกล่าวว่า “คอมพิวเตอร์คือของเล่นสำหรับเด็กผู้ชาย” ทว่าในช่วงปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย Samantha ได้ลงเรียนวิชาเขียนโค้ดผ่านการสร้างรูปโมเสกขนาดใหญ่และได้ค้นพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ “มันเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีความหมายมาก จนฉันนึกในใจว่า ‘ทำไมไม่เคยมีใครบอกฉันมาก่อนเลยว่านี่คือวิธีการเขียนโปรแกรม’” และต่อมาในปี 2013 เพื่อสานต่อแนวคิดในวันนั้น Samantha ก็ได้ก่อตั้ง Hopscotch ขึ้นมา

ดาวน์โหลดแอพ  Hopscotch -Programming for kids ได้ฟรีบน iPhone และ iPad

ว่ายทวนกระแสน้ำไปกับ Elizabeth Sampat ผู้แฝงแนวคิดลึกล้ำในเกม Hungry Shark World

ในฐานะครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของเกมแอ็กชันสุดเกรี้ยวกราดอย่าง Hungry Shark World คุณอาจคิดว่า Elizabeth Sampat คงไม่ใช่คนที่มีความเห็นอกเห็นใจสักเท่าไรเพราะทั้งวันของเธอคือการจินตนาการวิธีที่ผู้เล่นจะไปถล่มชายหาดด้วยฉลามผู้หิวโหย ในเกมเขมือบสุดโหดมันฮาของค่าย Ubisoft นี้ คุณจะได้รับบทเป็นนักล่าใต้ท้องทะเลไซส์ยักษ์และเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้า ปลาเล็กปลาน้อยก็ได้คะแนนน้อย แต่ถ้าจะล่าโบนัสต้องเขมือบมนุษย์ให้ได้ แต่กระนั้น Elizabeth ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับหัวข้อที่ดูใจร้ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เธอยังได้รับการยกย่องในผลงานที่เกี่ยวกับการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเห็นอกเห็นใจ และเป็นผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมเกมด้วย (ตัวอย่างเช่น เกมนิยายอินเทอร์แอ็กทีฟของเธออย่าง Am I Part Of The Problem? ยังช่วยเหลือผู้คนให้เรียนรู้วิธีการขอโทษ) แล้วมันเกี่ยวกับฉลามสุดโหดนี้ตรงไหนกัน? Elizabeth ชี้ว่าฉลามตกเป็นเบี้ยล่างในบริบทที่มนุษย์เป็นผู้ครอบงำทางนิเวศวิทยา โดยในเกม คุณเป็นเหมือนผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล คุณกินคน แต่คุณก็ยังเห็นมลพิษและสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างความเสียหายไว้ เราจึงได้นำเอาคอนเซ็ปต์ของเกมเบาสมองมาใช้ และสร้างให้มันเป็นเกมที่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เธอตั้งใจทำเกม Hungry Shark World  นี้ด้วยความรู้สึกที่อยากให้ผู้เล่นรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าจะหวาดกลัวเหล่าฉลาม เธอใช้ความเห็นอกเห็นใจในทุกองค์ประกอบทั้งสถานการณ์ สถานที่ การออกแบบเกมคือการออกแบบ ‘ด้วย’ ความเห็นอกเห็นใจมากกว่า ‘เพื่อ’ ความเห็นอกเห็นใจ ลองเล่นเกมนี้ดูสักครั้งด้วยมุมมองใหม่กันดู

ดาวน์โหลดเกม Hungry Shark World ได้ฟรีบน iPhone, iPad, Apple TV

แสดงความคิดเห็น